Open : 10:00-20:00 ทุกวัน
95, 97 ถ.มหาดไทย อ.เมือง จ.นครราชสีมา

แผลเป็นนูน คีลอยด์

Treatment Info

Treatment Detail

คีลอยด์ คือ

แผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะนูนและขนาดอาจขยายใหญ่กว่ารอยแผลที่เกิดขึ้น โดยอาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหายหรือหลังจากแผลหายดีสักพักแล้ว แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่ก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บ คัน ระคายเคือง หรือส่งผลด้านความสวยความงามได้

อาการของคีลอยด์

คีลอยด์สามารถเกิดขึ้นที่บนร่างกายบริเวณใดก็ตาม แต่ส่วนที่มีแนวโน้มการเกิดคีลอยด์มากกว่าบริเวณอื่น ๆ ได้แก่ หน้าอก หัวไหล่ หลัง ลำคอ และติ่งหู โดยอาจมีลักษณะที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้

  • เป็นก้อนนูนขึ้นมาจากผิวหนัง โดยจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
  • ลักษณะเป็นมันเงา ไม่มีขนขึ้นบนคีลอยด์
  • ในช่วงแรกอาจมีสีแดงหรือม่วง ก่อนที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือซีดลง
  • เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกแข็ง คล้ายยาง
  • ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่บางคนก็อาจมีอาการเจ็บ ฟกช้ำ คัน แสบร้อน หรือส่งผลให้เคลื่อนไหวลำบากได้หากเป็นบริเวณข้อต่อ
  • เมื่อสัมผัสหรือเสียดสีกับเสื้อผ้าอาจเกิดความระคายเคือง คัน หรือรู้สึกเจ็บ
  • คีลอยด์อาจคงอยู่เป็นเวลาหลายปี และบางครั้งก็ใช้เวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปีกว่าจะก่อตัวขึ้นมา
  • เมื่อถูกแสงแดดอาจมีสีคล้ำลงกว่าผิวบริเวณรอบ ๆ และเป็นไปได้ว่าสีคล้ำอาจไม่หายไป

สาเหตุของคีลอยด์

คีลอยด์เป็นผลจากความผิดปกติของกระบวนรักษาแผลตามธรรมชาติของร่างกาย โดยปกติเมื่อผิวหนังได้รับความเสียหายหรือเป็นแผลจะมีการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมาซ่อมแซมบริเวณดังกล่าวจนหายดี แต่หากกระบวนการนี้ทำงานมากเกินไปจะทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งแผลเป็นส่วนใหญ่มักค่อย ๆ ยุบจางลงเมื่อเวลาผ่านไป ทว่าแผลเป็นชนิดคีลอยด์นั้นจะมีขนาดใหญ่และนูนขึ้นกว่ารอยแผลเดิม

แผลคีลอยด์ก่อตัวขึ้นหลังจากได้รับบาดแผลใด ๆ บริเวณผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าตัด แผลจากการเจาะตามร่างกาย แผลไหม้ แผลจากโรคอีสุกอีใส สิว หรือในบางคนแม้แต่แผลขีดข่วนเล็กน้อยก็ยังทิ้งร่องรอยในลักษณะของแผลเป็นชนิดนี้ได้ แต่คีลอยด์ที่เกิดขึ้นหลังจากการได้รับบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นใช้เวลานานหลายปีกว่าจะพัฒนาขึ้น นอกจากนี้ บางครั้งยังพบว่าคีลอยด์เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่กลางหน้าอก แม้ไม่เคยได้รับบาดเจ็บหรือมีแผลบริเวณนั้นมาก่อนก็ตาม

ทั้งนี้ คีลอยด์เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 10-30 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นได้มากกว่า และเชื่อว่าอาจมีปัจจัยด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยกว่าครึ่งของผู้ที่เกิดแผลเป็นชนิดคีลอยด์มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นคีลอยด์มาก่อนเช่นกัน

การวินิจฉัยคีลอยด์

แพทย์จะตรวจดูลักษณะความผิดปกติที่เกิดขึ้นด้วยตาเปล่า เพื่อตรวจแยกคีลอยด์จากเนื้องอกหรือแผลเป็นชนิดอื่น ๆ ที่อาจมีลักษณะคล้ายกัน เช่น แผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) ซึ่งมีลักษณะนูนขึ้นมาเหมือนกันจนบางครั้งอาจทำให้เกิดความสับสน

แผลเป็นนูนต่างจากคีลอยด์ตรงที่มักมีสีออกแดงกว่าคีลอยด์และจะค่อย ๆ จางลงไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปีหรือนานกว่านั้น โดยหากเป็นแผลเป็นนูนจะก่อตัวขึ้นภายใน 2 เดือนหลังจากเกิดแผลและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 6 เดือน ผ่านไป 2-3 ปีจึงค่อย ๆ ยุบตัวลงจนแผลคงตัว มักพบว่าเกิดขึ้นบริเวณที่มีความตึงผิวสูง เช่น หัวไหล่ คอ หัวเข่า และข้อเท้า

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าแผลนั้น ๆ เป็นแผลเป็นคีลอยด์ แผลเป็นนูน หรือเนื้องอกที่ผิวหนัง แพทย์อาจเจาะชิ้นเนื้อจากบริเวณที่เกิดความผิดปกติแล้วส่งตรวจดูความแตกต่างโดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งหากเป็นคีลอยด์ก็จะแสดงให้เห็นถึงเซลล์ที่มีลักษณะเฉพาะออกไป

การรักษาคีลอยด์

คีลอยด์มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ลักษณะของคีลอยด์ รวมถึงอาการเจ็บหรือคันก็อาจเป็นที่รบกวนใจได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันการรักษาแผลคีลอยด์ยังไม่มีวิธีที่ได้ผลแน่นอน บางครั้งการรักษาอาจเพียงช่วยทำให้ลักษณะของคีลอยด์ดูดีขึ้นหรือรู้สึกระคายเคืองน้อยลง และยังมีโอกาสที่คีลอยด์จะเติบโตขึ้นมาอีกครั้งหลังจากรับการรักษา โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีใด ๆ ต่อไปนี้หรือใช้หลาย ๆ วิธีควบคู่กันไป

การฉีดคอร์ติโซนสเตียรอยด์ เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและไม่เจ็บมาก โดยจะฉีดสเตียรอยด์ชนิดนี้เข้าที่แผลเป็นให้ทุก ๆ 4-8 สัปดาห์เพื่อช่วยให้คีลอยด์ยุบตัวลง แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้แผลเป็นแดงขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากสเตียรอยด์ชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้บริเวณดังกล่าวสร้างหลอดเลือดแดงใกล้ชั้นผิวมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาด้วยวิธีนี้อาจช่วยให้แผลเป็นดูดีขึ้นกว่าเดิมก็ยังเห็นความผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับผิวบริเวณรอบข้างอยู่ดี แม้กระทั่งในกรณีที่มีผลการรักษาดีที่สุดแล้วก็ตาม

การผ่าตัด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาคีลอยด์ โดยการผ่าเอาผิวหนังบริเวณที่เป็นคีลอยด์ออกไป อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนี้ถือเป็นวิธีที่มีความเสี่ยง เพราะจะกระตุ้นให้แผลเป็นเกิดนูนขึ้นมาเหมือนเดิมหรือมีขนาดใหญ่กว่าเดิม แพทย์มักใช้วิธีอื่นร่วมรักษาด้วยหลังจากผ่าตัดแล้ว เช่น การใช้แผ่นผ้าแปะกดหรือแผ่นเจลซิลิโคนปิดบนแผลวันละ 12-24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาหลายเดือน การฉีดสเตียรอยด์ การฉายรังสี นอกจากนี้ การเย็บแผลหลังผ่าตัดให้น้อยเข็มที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็อาจช่วยให้โอกาสในการเกิดแผลเป็นลดลงได้เช่นกัน

การเลเซอร์ เป็นการใช้เลเซอร์ชนิดที่มีความอ่อนโยนต่อผิว (Pulsed Dye Lasers) ซึ่งจะช่วยให้แผลเป็นคีลอยด์เรียบแบนและแดงน้อยลงได้ ทั้งยังเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและไม่ทำให้เจ็บมาก แต่อาจต้องทำหลาย ๆ ครั้ง และมีราคาค่อนข้างแพง