การเสริมจมูก และการลดขนาดจมูก
จมูก ถือเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดที่สุดบนใบหน้า ซึ่งทุกคนปราถนาให้จมูกมีลักษณะสวยงาม สันตรง ดั้งจมูกนูน เรียวยาว ปลายจมูกยาว และโดดเด่น แต่สำหรับชนชาติที่มีพันธุกรรมที่มีลักษณะจมูกสั้น เตี้ย กว้าง ไม่เรียวยาว โดยเฉพาะคนเอเชีย ดังนั้น การผ่าตัดเสริมจมูกจึงเป็นทางเลือกสำหรับการเสริมลักษณะด้อยของจมูกให้ดูงดงาม ส่วนคนเชื้อชาติที่มีสันจมูกใหญ่เกินไป สันจมูกงุ้มเหมือนปากนกแก้ว ปลายจมูกยื่นยาวมาก ก็ต้องจำเป็นในการผ่าตัดเพื่อเอาส่วนที่ยื่นเกินออก โดยเฉพาะคนแถบตะวันตก คนอินเดีย เป็นต้น
การเสริมจมูก เป็นการผ่าตัดเพื่อเสริมในส่วนของจมูกที่มีลักษณะจมูกสั้น ดั้งจมูกเตี้ย จมูกไม่เรียวยาว ปลายแบนกว้าง ไม่ยื่นโด่ง
การลดจมูก เป็นการผ่าตัดสำหรับนำส่วนที่เกินพอดีหรือดูแล้วไม่สวยงามของจมูกทีลักษณะสันจมูกใหญ่ สันจมูกงุ้มต่ำ และมีปลายจมูกยื่นออกมามาก
การผ่าตัดเสริมจมูก (Augmentation) จะคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นของใบหน้า เช่น หน้าผาก เบ้าตา ริมฝีปาก และโหนกแก้ม เพื่อให้ลักษณะของจมูกหลังการผ่าตัดสมส่วนกับองค์ประกอบอื่นๆ และดูสวยงาม ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องต่างๆ คือ
1. จมูกของผู้มาใช้บริการยาวหรือไม่ หากจมูกมีลักษณะยาวก็จะทำให้การผ่าตัดได้ลักษณะจมูกที่สวยงามกว่าคนที่มีจมูกสั้น
2. ความกว้างของฐานจมูก ผู้ใช้บริการบางรายอาจมีฐานจะมูกกว้างก็ต้องจำเป็นในการผ่าตัดเพื่อลดฐานจมูกให้แคบลง
3. ผิวหนังของจมูกมีลักษณะตึงหรือหย่อนมากน้อยเพียงไร เนื่องจากมีผลต่อการเสริมจมูกให้สูงตามระดับความเหมาะสมของหนังจมูกที่สามารถยืดหยุ่นรองรับได้ โดยเฉพาะการเสริมปลายจมูก หากเสริมให้สูงมากจนหนังจมูกยืดมากจะทำให้หนังบริเวณปลายจมูกที่ยืดมีลักษณะใสเหมือนเกิดฝีหนอง และนานวันอาจเกิดแผลฉีกขาดได้ง่าย
4. ปลายจมูก และปีกจมูกมีความกว้างมากน้อยเพียงใด มีความจำเป็นต้องตัดปีกจมูก และทำรูจมูกให้แคบลงหรือไม่
การผ่าตัดเสริมจมูกจะใช้วัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของจมูก และเนื้อเยื่อเกิดปฏิกิริยาต่อต้านน้อยมาก ได้แก่ ซิลิโคน ซึ่งเป็นสารประกอบของธาตุต่างๆ คือ ซิลิคอน ออกซิเจน คาร์บอน และไฮโดรเจน หรือทางการแพทย์เรียกว่า กระดูกเทียม ซึ่งมีคุณสมบัติในการขึ้นรูปได้ง่าย และการคงรูปได้ดี นอกจากนั้น การเสริมจมูกยังใช้วัสดุอื่นที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านน้อย ได้แก่ ไหม กระดูกอ่อนของร่างกาย
ขั้นตอนการผ่าตัดเสริม
1. ผู้มาใช้บริการจะเข้ารับการตรวจจมูกจากแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่าสามารถทำได้หรือไม่หรือจะใช้แนวทางใดในการผ่าตัดเพื่อให้ได้ตามความต้องการของผู้มาใช้บริการให้มากที่สุด
2. แพทย์จะกำหนดแนวทางการผ่าตัด ซึ่งจะอธิบายให้ผู้มาใช้บริการรับทราบ รวมถึงสภาพจมูก และลักษณะปัญหาจมูกของผู้มาใช้บริการ พร้อมตกลงการผ่าตัด
3. การผ่าตัดจะเริมจากการฉีดยาชาบริเวณจมูก ณ จุดที่จะผ่าตัด
4. แพทย์จะทำการกรีดขอบในของรูจมูก แล้วใช้กรรไกรเลาะให้เป็นช่องตามแนวยาวของสันจมูก ผ่านผิวหนัง และลึกถึงชั้นกระดูกจมูก
5. ทำการใส่แท่งซิลิโคนที่จัดเตรียมมาตามขนาดที่ได้ออกแบบให้เข้ากับจมูก ด้วยการสอดใส่ในตำแหน่งของจมูกที่ต้องการเสริม พร้อมจัดให้เข้ารูป
6. เมื่อจัดรูปทรงให้อยู่ตัวแล้ว แพทย์จะทำการเย็บปิดแผล
ในบางรายที่มีปีกจมูกกว้าง แพทย์จำเป็นต้องตัดกระดูกอ่อนที่อยู่ปลายปีกจมูกออก เพื่อให้สอดรับกับส่วนที่ถูกเสริมเข้าใหม่
หลังการผ่าตัดจะเกิดอาการบวม และเจ็บแผลประมาณ 2-3 สัปดาห์ ร่วมด้วยอาการรู้สึกตึงของหนังจมูก ทั้งนี้ แพทย์จะทำการฉีดยาปฏิชีวนะให้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และอักเสบของแผลตามมา เมื่อตัดไหมออกจะเห็นจมูกในตำแน่งที่เสริมนูนเป็นสันขึ้น และอาการบวมจะหายไปประมาณ 1 เดือน หลังการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อน
– รู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดเสร็จที่ต้องติดผ้าปิดแผลตลอดเวลา ทำให้รู้สึกหายใจลำบาก
– เกิดการติดเชื้อ และอักเสบของแผลหากดูแลไม่ดีพอ
– ผิวจมูกมีสีแดงผิดปกติเมื่อมองผ่านแสง
– รูปจมูกผิดรูป บิดเบี้ยว ไม่เป็นธรรมชาติ หากเกิดการกระทบกระแทกหลังการผ่าตัด
การผ่าตัดลดขนาดจมูก
เป็นการผ่าตัดเพื่อนำส่วนของจมูกที่สูงเกินออก พร้อมตกแต่งรูปทรงของจมูกให้มีขนาดเหมาะสม มักทำกับปีจมูกที่ดูกว้าง และปลายจมูกที่ยื่นยาวเกินไป ด้วยการผ่าตัดภายในโพรงจมูกเพื่อมิให้เกิดรอยแผลเป็นด้านนอกผิวจมูก การผ่าตัดเพื่อลดบางส่วนของจมูกพบมากในแถบชนชาติยุโรป และตะวันออกกลาง รวมถึงในเอเชียบางส่วน เช่น ประเทศอินเดีย
ขั้นตอนการผ่าตัดจะคล้ายกับการผ่าตัดเสริมจมูก แต่หากต่างกันที่ การผ่าตัดลดจมูกจะผ่าตัดด้วยการนำส่วนของกระดูกอ่อน และเนื้อเยื่อบางส่วนที่มากเกินไปออกเท่านั้น และอาการหลังการผ่าตัดจะมีลักษณะคล้ายกับการผ่าตัดเสริมจมูก ด้วยการบวมของแผลบริเวณผ่าตัด
การปฏิบัติตนหลังการผ่าตัด
– รับประทานยาที่แพทย์จัดให้ และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากใช้ยาอื่น
– ให้ระมัดระวังการกระทบกระแทกบริเวณแผลผ่าตัด เพราะอาจทำให้แผลฉีกขาด และติดเชื้อได้ โดยเฉพาะแผลจากการเสริมจมูกควรระวังเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการกระแทกบริเวณแผล เพราะอาจทำให้จมูกเสียรูปทรงได้ง่าย
– ดูแลรักษาแผลให้สะอาด ระมัดระวังในเรื่องการสัมผัสกับน้ำ เหงื่อ หรือสิ่งสกปรกบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อ อักเสบ และเป็นหนองได้
– ไม่ควรจับ สัมผัสหรือขยี้บริเวณแผลทั้งช่วงก่อนตัดไหม และหลังการตัดไหม
– ควรเข้าพบแพทย์ตามวัน และเวลาที่นัดหมาย
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://bit.ly/2tyiaMG